ประวัติสมาคม

Spent History

ความเป็นมาของสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย

จากการที่ศัลยแพทย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องดูแลผู้ป่วยหนักที่อยู่ในขั้นวิกฤตมาเป็นประจำจึงต้องรอบรู้และเข้าใจในปัญหาที่จะพึงเกิดขึ้นพร้อมทั้งมีกลวิธีในการแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ หากมีผู้ร่วมงานที่มีความรู้เข้าใจในเรื่องโภชนาการดี จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการปรึกษาหารือกันในหมู่เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเราควรจะเชิญผู้ที่สนใจเรื่องการปรับปรุงดูแลภาวะโภชนาการในผู้ป่วยของเราได้อย่างไรดังนั้น ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ศ.นพ.จอมจักร จันทรกุล จึงได้เชิญแพทย์ผู้มีความรู้ และสนใจในเรื่องการดูแลภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมาปรึกษาหารือกัน โดยมีคุณปริญญา โชติคุณ เป็นผู้ประสานงานการพบกันคราวนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โรงแรมนารายณ์ ถนนสีลม กรุงเทพโดยมีแพทย์มาร่วมประชุมในวันนั้น ดังนี้ นพ.ชาญวิทย์ ตันติพิพัฒน์ จาก รพ.จุฬาลงกรณ์, นพ.วิเศษ ต่างใจ จาก รพ.จุฬา, นพ.เชวงเกียรติ ทิมปาวัฒน์ จาก รพ.ศิริราช, นพ.ชนา สาทรกิจ จาก รพ.ศิริราช, นพ.พัลลภ จารุวนิช จาก รพ.พระมงกุฎ, นพ.วิชิต เทพรัตน์ จาก รพ.ราชวิถี และมี นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ จาก รพ.รามาธิบดี, นพ.สญชัย ศิริวรรณบุศย์ จาก รพ. ภูมิพลฯ และ นพ.จอมจักร จันทรสกุล จาก รพ.ศิริราช ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการและแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อง โภชนาการของผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้แพทย์ทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะแพทย์ในต่างจังหวัดได้เข้าใจในเรื่องการให้อาหารทางหลอดเลือดดำในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากขณะนั้นทางกลุ่มยังขาดบุคลากรอยู่พอสมควร จากนั้นจึงได้มี การตั้งเป็นกลุ่มวิชาชีพที่เรียกว่าชมรมขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นและการปฏิบัติร่วมกันทำ study ร่วมมือกันเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของเมืองไทย โดยหวังว่าจะได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันและเชิญผู้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องดังกล่าว ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมาให้ความรู้แก่บุคลากรด้านโภชนบำบัด

จากจุดเริ่มต้นของวันนี้นั้นซึ่งขณะนั้นคงจะมีแต่ source ของพลังงานจาก carbohydrate, protein, ไขมัน แต่วิตามินและ trace element ยังไม่มีจำหน่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขาดสารอาหาร แก้ไขด้วยการให้ plasma หรือได้สารละลายจากต่างประเทศ เป็น individual contact จะเห็นได้วาเรามีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เรามีสารละลายที่ให้ได้ครบถ้วนมีวิตามินและ trace element ที่โรงพยาบาลบางแห่งมีการสร้างทีมโภชนบำบัดมีแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและโภชนากรร่วมดูแลผู้ป่วย ได้วาง guideline ในการดูแลผู้ป่วยที่ให้ TPN ทั้งวิธีการส่ง order ให้ฝ่ายเภสัชกรรม การดูแลแผลหรือสาย catheter โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ มีแนวทางการดูแลผู้ป่วยเมื่อมีไข้ จนกระทั่งประมาณ กลางถึงปลายปี 2528 รูปของชมรมได้ก่อตัวขึ้นโดยใช้ชื่อว่าชมรมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่ประเทศไทยและมี ประธานชมรม เลขานุการและ เหรัญญิก เป็นแกนหลักในการดำเนินกิจกรรมของชมรม โดยที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.จอมจักร จันทรสกุล ได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรก ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ชนา สาทรกิจ เป็นเลขาธิการ ภก.ปริญญา โชติคุณ เป็นเหรัญญิก ซึ่งทางชมรมได้จัดให้มีการประชุมวิชาการประจำปีทุกปี ต่อมาจนถึงปี 2551 คณะกรรมการชมรมได้ดำริที่จะก่อตั้งเป็นสมาคม โดยในขณะนั้น ศ. พญ.จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ ดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยและได้รับการอนุมัติจดทะเบียนเป็นสมาคมฯ เมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2551 หลังจากนั้นได้มีการริเริ่มการจัดประชุมวิชาการ โดยมีการไปร่วมจัดประชุมกับสมาคมอื่น ๆ เช่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดอบรมให้กับแพทย์ประจำบ้านได้อบรมด้านโภชนบำบัด กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ นับเป็นการพัฒนามาเรื่อย ๆ จากชมรมสู่สมาคมฯ

วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

  1. ส่งเสริมวิทยาการ และแลกเปลี่ยนความรู้สาขาวิชาโภชนศาสตร์คลินิก ในหมู่สมาชิกทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  2. เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาทางวิชาการด้านโภชนศาสตร์คลินิก
  3. ส่งเสริมวิชาชีพและจริยธรรมของแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านโภชนศาสตร์คลินิก
  4. เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านโภชนศาสตร์คลินิกแก่ประชาชน
  5. เสนอแนะและประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโภชนศาสตร์คลินิก
  6. ไม่เกี่ยวกับการเมือง